ฐานข้อมูลด้านศิลปกรรมท้องถิ่น

แหล่งศิลปกรรม วัดพรหมโลก จังหวัดนครศรีธรรมราช

สถานที่ตั้ง
วัดพรหมโลก ตั้งอยู่ที่บ้านนอกท่า หมู่ที่ 1 ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาด : วัดพรหมโลกมีพื้นที่ประมาณ 17 ไร่
อาณาเขต ; ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนสายน้ำตกพรหมโลก – บ้านนอกท่า – ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนสายบ้านปลายอวน – ทิศตะวันออก ติดต่อกับ โรงเรียนวัดพรหมโลก – ทิศตะวันตก ติดต่อกับ โรงพยาบาลพรหมคีรี

ประวัติความเป็นมา
ในสมัยสงคราม 9 ทัพ ในตัวเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อขรัวสีทอง อยู่วัดพระสูง ซึ่งในปัจจุบันวัดพระสูงเหลือเพียงพระสูงริมสนามหน้าเมือง พระภิกษุขรัวสีทองได้รวบรวมพรรคพวกหนีความวุ่นวายมาตั้งหลักแหล่งบริเวณวัดพรหมโลกในปัจจุบันอันเนื่องมาจากเนื้อที่ในอาณาบริเวณทั้ง 4 เป็นทุ่งนา จึงได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดหัวทุ่ง” อันเนื่องมาจากตั้งอยู่ด้านเหนือของทุ่งนาแถวนั้น ต่อมาวัดหัวทุ่งได้ร้างไประยะหนึ่ง จึงมีการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ เรียกว่า วัดพรหมโลก

ลักษณะทั่วไป/ความสำคัญต่อชุมชน
แหล่งศิลปกรรมวัดพรหมโลกมีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาบริเวณรอบเป็นสวนผลไม้ ได้แก่ สวนเงาะ สวนทุเรียน สวนมังคุด ด้านทิศเหนือมีคลองนอกท่าไหลผ่าน บริเวณรอบวัดพรหมโลกจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้นานาพันธุ์ ลักษณะของแหล่งศิลปกรรมวัดพรหมโลกตั้งอยู่บริเวณเขตเทศบาลตำบลพรหมโลก ซึ่งอยู่ในแวดล้อมของชุมชน ขณะนี้หน่วยงานราชการหลายหน่วยงานได้เข้ามาใช้พื้นที่ตั้งสำนักงานเป็นที่ทำงานได้เข้ามาสร้างอาคารหลายอาคารแล้ว บริเวณรอบ ๆ เป็นพื้นราบมีต้นมังคุดขึ้นอยู่ทั่วบริเวณวัด

หลักฐานที่พบ
หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ค้นพบมีดังนี้ –
– โยนิ สลักด้วยหินปูน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 54.50 เซนติเมตร ตรงกลางสลักเป็นช่องรูปทรงกลมรี เพื่อการประดิษฐานศิวลึงค์ ที่ขอบของโยนิทุกด้านสลักเป็นขอบนูนขึ้นมา โดยขอบนี้ได้เชื่อมต่อกับร่องน้ำ ซึ่งแตกหักสูญหายไปจากรูปแบบทางศิลปะอาจจะสันนิษฐานได้ว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-14
ด้านสถปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพรหมโลก มีดังนี้ – พระอุโบสถ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังโรงธรรมของวัดมีขนาดกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 18 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร รอบ ๆ มีใบเสมาปักแสดงเขตพัทธสีมาของวัด
– กุฏิสร้างแบบทรงปั้นหยาตามแบบสถาปัตยกรรมทางภาคใต้ และยังมีกุฏิที่พักสงฆ์ซึ่ง สร้างตามแบบสมัยปัจจุบันอีกหลายหลัง
– อาคารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอพรหมคีรี อาคารหอสมุดประชาชนอำเภอพรหมคีรี ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอพรหมคีรีจังหวัดนครศรีธรรมราช
– อาคารสภากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งแหล่งกาชาดได้มาสร้างเมื่อใช้เป็นทีรักษาผู้ถูกงูกัด ซึ่งในวัดนี้เมื่อก่อนเจ้าอาวาสคนก่อนคือพระครูวุฒิธรรมสาร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าอาจารย์สมปอง เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ยาสมุนไพรรักษาผู้บาดเจ็บจากการถูกงูกัดมา ซึ่งจะมีผู้ป่วยนอนพักรักษาอยู่เป็นจำนวนมาก
– ศาลาอดีตเจ้าอาวาสวัดพรหมโลก ซึ่งได้จัดสร้างไว้อย่างสวยงามเหมาะแก่การเคารพ บูชา ซึ่งมีการปั้นรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาสที่ผ่านมา 3 รูป คือ 1. พ่อท่านขรัวสีทอง ปฐมเจ้าอาวาส ซึ่งตามหลักฐานระบุว่าอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2325 – 2345 2. พ่อท่านพระสมุห์เกลื่อน จิตเดโช เจ้าอาวาสในช่วงปี พ.ศ. 2423 – 24995 และพ่อท่านพระครูวุฒิธรรมสาร (สมปอง) เจ้าอาวาสในช่วงปี พ.ศ. 2498 – 2536 3.อนุสรณ์สถานรูปเหมือนนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐ
มนตรี ซึ่งได้สร้างความเจริญแก่ประชาชนในอำเภอพรหมคีรี ชาวบ้านจึงได้สร้างอนุสรณ์ไว้อนุชนได้ระลึกถึง มีขนาดเท่าคนจริงได้ก่อสร้างฐานตั้งไว้อย่างสวยงาม ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2541โรงธรรม ซึ่งประกอบศาสนพิธีที่สำคัญของวัดและเป็นที่ประชุมต่างของชาวบ้านใกล้ เคียงและภายในมีภาพเขียนเรื่องราวประวัติความเป็นมาของวัดในอดีต
– ซุ้มประตูวัด เมื่อเข้ามาถึงจะเป็นซุ้มประตูที่สร้างด้วยปูนปั้นประดับแก้วสีต่าง ๆ สวย

เส้นทางเข้าสู่สถานที่
วัดพรหมโลกตั้งอยู่ใกล้กับอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครศรีธรรมราชไปตามทิศเหนือ ตามถนนสายนคร – นบพิตำ ประมาณ 22 กิโลเมตร เมื่อมาถึงสี่แยกบ้านนอกท่าเลี้ยวซ้ายตามถนนสายบ้านนอกท่า – น้ำตกพรหมโลกเข้าไปประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงวัดพรหมโลกซึ่งจะอยู่ทางซ้าย