ประเพณีท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

ประเพณีและวัฒนธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช

1.ประเพณีสารทเดือนสิบ
ความเป็นมา
ประเพณีสารทเดือนสิบวิวัฒนาการมาจากประเพณีเปตพลีของพราหมณ์ ซึ่งลูกหลานจัดขึ้น เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ต่อมาพวกพราหมณ์จำนวนมากได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาและยังถือปฏิบัติในประเพณีดังกล่าวอยู่ พระพุทธองค์เห็นว่า ประเพณีนี้มีคุณค่า เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษนำความสุขใจให้ผู้ปฏิบัติ จึงทรงอนุญาตให้อุบาสกอุบาสิกาประกอบพิธีนี้ต่อไปได้ ประเพณีสารทเดือนสิบมีมาตั้งแต่พุทธกาลคาดว่า เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในนครศรีธรรมราชจึงรับประเพณีนี้มาด้วย

ระยะเวลาดำเนินการ
วันแรม ๑ ค่ำ ถึงแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ แต่ชาวนครศรีธรรมราช นิยมทำบุญคือ วันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ
สำหรับการจัดงานเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 9 ค่ำ เดือน 10 ถึง วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี รวม 10 วัน 10 คืน

สาระสำคัญ
๑.เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ โดยรำลึกถึงคุณความดีของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
๒.เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกลได้มาพบปะซักถามสารทุกข์สุกดิบต่อกันและได้โอกาสทำบุญร่วมกัน
๓.เป็นการเก็บเสบียงอาหารมีทั้งพืชผักอาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูปจัดนำไปถวายในรูปหมรับหรือสำรับ เพื่อที่ทางวัดจะได้เก็บรักษาไว้เป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน

2.ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ความเป็นมา
ในสมัยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเป็นกษัตริย์ครองตามพรลิงค์(นครศรีธรรมราช) อยู่นั้น ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๑๗๗๓ ขณะที่เตรียมสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น ชาวปากพนังมากราบทูลว่า คลื่นได้ซัดเอาผ้าแถบยาวผืนหนึ่งซึ่งมีภาพเขียนเรื่องพุทธประวัติมาขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้านั้นจนสะอาดเห็นภาพวาดพุทธประวัติ เรียกว่า “ผ้าพระบฏ” จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธจากหงสากลุ่มหนึ่ง จะนำผ้าพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกพายุพัดพามาขึ้นชายฝั่งปากพนัง เหลือผู้รอดชีวิตสิบคนพระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงมีความเห็นว่าควรนำผ้าพระบฏไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ แม้จะไม่ใช่พระพุทธบาทตามที่ตั้งใจ แต่ก็เป็นพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเจ้าของผ้าพระบฏก็ยินดี การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีขึ้นตั้งแต่ปีนั้นและดำเนินการสืบต่อมา จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน

ระยะเวลาดำเนินการ
แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนิยมจัดปีละสองครั้ง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม (วันมาฆบูชา) และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก (วันวิสาขบูชา) โดยนำผ้าไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปัจจุบันนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม (วันมาฆบูชา) มากกว่า

สาระสำคัญ
๑. แสดงให้เห็นลักษณะสังคมของนครศรีธรรมราช ที่ยึดมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาการทำบุญเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาเพื่อประสงค์ให้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า
๒. แสดงให้เห็นว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมความศรัทธา พุทธศาสนิกชนทั่วไปทุกทิศจึงประสงค์มาห่มผ้าพระธาตุอย่างพร้อมเพรียงกัน

3. ประเพณีลากพระ
ความเป็นมา
ในสมัยที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นแล้ว พุทธศาสนิกชนได้อัญเชิญพระพุทธรูปซึ่งสมมุติแทนองค์พระพุทธเจ้ามาแห่แหน ซึ่งเปรียบเสมือนการรับเสด็จและถวายภัตตาหารให้พระพุทธเจ้าด้วยตนเอง พระภิกษุจีนชื่ออี้จิง ได้จาริกแสวงบุญผ่านมายังอาณาจักรตามพรลิงค์ ได้พบเห็นชาวบ้านปฏิบัติประเพณีลากพระจึงบันทึกจดหมายเหตุไว้ว่า “พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง มีคนแห่แหนนำมาจากวัด โดยประดิษฐานบนรถหรือบนแคร่ มีพระสงฆ์และฆราวาสหมู่ใหญ่ห้อมล้อมมา มีการตีกลองและบรรเลงดนตรีต่างๆ มีการถวายของหอมและดอกไม้และถือธงชนิดต่าง ๆ ที่ทอแสงในกลางแดด พระพุทธรูปเสด็จไปสู่หมู่บ้านด้วยวิธีดังกล่าว”

ระยะเวลาดำเนินการ
วันลากพระจะทำกันในวันออกพรรษา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด

สาระสำคัญ
๑.เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับสังคมเกษตรกรรม ด้วยความเชื่อว่าอานิสงฆ์แห่งการลากพระจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การทำบุญเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่ง การลากพระแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตรกรรม
๒.เป็นการปฏิบัติตามความเชื่อว่า การทำบุญจะส่งผลให้ผู้ที่ทำได้รับบุญกุศลให้ประสบความสำเร็จในชีวิต จึงมีการปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อตลอดมา
๓ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง ความสามัคคีพร้อมใจในการทำบุญทำทาน และเกิดความสนุกสนาน

4.ประเพณีอาบน้ำคนแก่
ความเป็นมา
อาบน้ำคนแก่เป็นประเพณีเกี่ยวเนื่องมาจากประเพณีสงกรานต์ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่าในวันที่ ๑๔ เมษายน เทวดาที่เฝ้ารักษาเมืองทั้งหลายจะพากันขึ้นไปเมืองสวรรค์กันหมด ทั้งเมืองจึงปราศจากเทวดา วันนี้จึงเรียกว่า “ วันว่าง “ คือเป็นวันที่ทุกสิ่งทุกอย่างว่างเทวดาคุ้มครอง ชาวบ้านจะหยุดทำกิจการงานทุกอย่างเก็บสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆหมด ครกและสากตำข้าวก็จะแช่เอาไว้สามวัน
ในวันว่าง ชาวบ้านจะนำภัตตาหารและเครื่องนมัสการต่าง ๆไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน เสร็จแล้วจึงไปสักการะและสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ที่สนามหน้าเมือง และนิยมรองรับน้ำจากการสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ เพื่อนำไปไว้ใช้ในงานมงคลที่บ้านของตนอีกด้วย
เมื่อสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์เสร็จแล้ว ชาวนครศรีธรรมราชจะนำอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไปให้ญาติคนแก่ที่ตนเคารพนับถือแล้วขออาบน้ำให้ท่านด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

ระยะเวลาดำเนินการ
ประเพณีอาบน้ำคนแก่ อยู่ในช่วงระยะเวลาของวันที่ ๑๓ – ๑๕ เดือนห้า(เมษายน) ของทุกปี ซึ่งจะเลือกเอาวันไหนก็ได้
สาระสำคัญ
๑.การอาบน้ำคนแก่เป็นประเพณีที่มีบทบาทในการควบคุมคนในสังคมให้วางตนให้เหมาะสมตามฐานะของตน
คือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเพื่อให้คนเคารพนับถือ เมื่อเป็นผู้น้อยก็ต้องแสดงความเคารพและมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ
๒.เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อันได้แก่ คนแก่ในตระกูล บิดา มารดา ตลอดจนผู้ที่ตนเคารพนับถือทั้งหลาย
๓.เป็นการพบปะกันในระหว่างญาติพี่น้อง ซึ่งก่อให้เกิดความผูกพันกันในวงศาคณาญาติ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวรักใคร่กันในตระกูลยิ่งขึ้น
๔.สร้างความอบอุ่นปลาบปลื้มใจให้กับคนแก่ของตระกูล ที่ได้เห็นความเป็นปึกแผ่นของลูกหลาน
๕.ทำให้เกิดความสุขความอิ่มเอิบใจ ให้กับผู้ที่ได้ร่วมพิธีทำบุญตามประเพณีอาบน้ำคนแก่

5. ประเพณีสวดด้าน
ความเป็นมา
ในวันธรรมสวนะ พุทธศาสนิกชนจะมาทำบุญฟังธรรมกัน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ จึงมีชาวบ้านมาทำบุญกันมากเป็นพิเศษ สถานที่ที่จัดให้มีภิกษุสงฆ์มาเทศนา คือในวิหารคดหรือพระระเบียง ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “ ด้าน “ การเทศน์ของพระภิกษุสงฆ์จะมีด้านละหนึ่งธรรมาสน์เป็นอย่างน้อย
การไปฟังเทศน์ฟังธรรม ชาวบ้านจะต้องเตรียมตัวไปนั่งรอที่พระระเบียงก่อนที่พระสงฆ์จะไปถึง ในขณะที่นั่งรอ บางคนก็พูดคุยสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ บางคนก็มีเรื่องราวมาบอกเล่าสู่กันฟัง บางคนนั่งอยู่เฉย ๆทำให้น่าเบื่อ ในที่สุดจึงเกิดความคิดเห็นพ้องกันว่าควรหาหนังสือมาสวดจนกว่าพระจะมาเทศน์ เพื่อจะได้ฟังกัน ได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้เป็นคติสอนใจ จึงเกิดประเพณีสวดด้านขึ้น

ระยะเวลาดำเนินการ
การสวดด้านจะมีเฉพาะในวันพระหรือในวันธรรมสวนะ(ขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ และขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ) เวลาก่อนเพล ก่อนพระสงฆ์จะขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมเทศนาให้พุทธศานิกชนฟังที่ระเบียงทั้งสี่ด้านในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
สาระสำคัญ
๑.ผู้ฟัง ได้ฟังสาระจากการสวดหรือการอ่านหนังสือ ได้ทั้งความรู้คติสอนใจ และความเพลินเพลิด ส่วนผู้สวดได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือนับเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดที่ช่วยให้คนรักการอ่านหนังสือและรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทั้งยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการฟังแก่เด็กนักเรียนได้
๒.ได้ทราบข่าวความเป็นไปของบ้านเมือง เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของจิตใจ
๓.เกิดความรักความสามัคคีหมู่คณะที่ไปทำบุญวัดเดียวกันสร้างแบบอย่างให้แก่ลูกหลาน
๔.เป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมของชาวนครศรีธรรมราชในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งทางด้านภาษาและวรรณกรรมมาเป็นเวลายาวนานสมควรแก่การส่งเสริมให้มีการพัฒนาวรรณกรรมท้องถิ่นไว้เป็นมรดกของท้องถิ่นที่มีคุณค่ายิ่ง

6.ประเพณีให้ทานไฟ
ความเป็นมา
นครศรีธรรมราชตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น ในหน้าหนาวก็ไม่หนาวจัด เพียงแต่คนรู้สึกว่าอากาศเย็นลงกว่าปกติ เนื่องจากไม่เคยชินกับอากาศที่หนาวเย็นลง ตอนย่ำรุ่งเช้ามืดจึงลุกขึ้นมาก่อไฟผิงเพื่อสร้างความอบอุ่น ประกอบกับชาวนครศรีธรรมราชยึดมั่นในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนจึงพากันก่อกองไฟในวัดใกล้บ้าน แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาผิงไฟรับความอบอุ่นด้วย
ระยะเวลาดำเนินการ
การให้ทานไฟไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตายตัวแล้วแต่ความสะดวกในการนัดหมาย แต่ส่วนใหญ่จะปฏิบัติในช่วงเดือนยี่ ซึ่งป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ชาวบ้านจะนัดหมายไปพร้อมกันในเวลาย่ำรุ่งหรือตอนเช้ามืด ซึ่งจะเป็นวันไหนก็ได้
สาระสำคัญ
๑..เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้นัดหมายพร้อมกันในตอนเช้ามืด เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงพระรวมทั้งร่วมรับประทานอาหารกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งเป็นการสร้างสามัคคีในหมู่คณะได้ดียิ่ง
๒.ทำให้มีสุขภาพดีมีพลานามัยแข็งแรง เพราะการตื่นนอนตอนเช้าตรูได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน
๓.เมื่อได้ปฏิบัติตามประเพณีแล้วย่อมทำให้เกิดความสุขใจเบิกบานใจในผลบุญที่ตนได้กระทำ อีกทั้งยังได้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานของตนด้วย