ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง

 

ลุงดาบ อดีตตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อรับราชการได้ 37 ปีเศษ ในปี พ.ศ. 2547 เขาลาออกเพราะได้ส่งลูกทั้ง 3 คนจนจบการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสมตามความมุ่งหวัง และตั้งใจนำเงินที่ได้รับจากการเกษียณก่อนกำหนดไปซื้อสวนปาล์มน้ำมัน 50 ไร่ สวนยางพารา 20 ไร่ แต่ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไป เมื่อ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ได้มาพักที่บ้านและถามว่าจะทำอะไรต่อไป เขาจึงเล่าให้ อ.ยักษ์ ฟัง ว่าต่อไปจะร่ำรวยแล้ว เพราะจะมีสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราของตัวเอง อ.ยักษ์ ยิ้ม และตอบว่า “ก็ดี ก็รวยไปคนเดียว แต่ถ้ายางตายนึ่งทุกอย่างก็จะหายวับไปกับตา ให้หันไปดูว่าเกษตรกรรอบข้างว่าพวกเขาจะพึ่งใคร” จึงไปนอนคิดอยู่ 2 คืน แล้วบอกกับภรรยาที่ลาออกจากครูมาพร้อมกันว่าต่อไปนี้จะเดินตามรอยพ่อฯ

จากการที่ผู้บังคับบัญชาบังคับให้ไปเรียนกับ อ.ยักษ์ ซึ่งเขาไม่เคยรู้จักมาก่อน เมื่อไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องก็ไม่สนใจฟัง จนกระทั่งได้ยิน อ.ยักษ์ พูดเรื่องจุลินทรีย์ในดิน ทำให้เขาตระหนักว่าบุคคลผู้นี้เป็นผู้รู้จริง ลุงดาบจึงตั้งใจศึกษาหาความรู้โดยไปอบรมถึง 8 รุ่น และลงมือทดลองปฏิบัติด้วยตนเองมาแล้วทั้งสิ้นได้ผลดีทุกอย่าง จึงเกิดความศรัทธาและมั่นใจว่าหนทางนี้คือทางรอด

 

ขณะเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ลุงดาบพบว่าปัญหาของชาวบ้านคือการถูกข้าราชการเอารัดเอาเปรียบ เขาจึงพยายามช่วยเหลือชาวบ้านทุกอย่างเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะการให้การศึกษา ปัญหาที่เกิดจากนโนยายรัฐที่ในอดีตส่งเสริมให้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันส่งเสริมให้ปลูกทุเรียน และมะพร้าว ซึ่งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นต้องใช้พื้นที่มากขึ้น ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ไม่มีรากไม้ใหญ่ยึดดิน สวนสมรม (สวนที่ปลูกพืชหลากหลายประเภท) อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวใต้หายไป อีกทั้งสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำ รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้พื้นที่ภาคใต้เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติรุนแรง เช่น การเกิดพายุเกย์ที่ จ.ชุมพร มหาอุทกภัยที่หมู่บ้านคีรีวง และโคลนถล่มที่บ้านกระทูน จ.นครศรีธรรมราช จึงเป็นที่มาของการฝึกหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครเพื่อป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติ (Crisis Management Survival Camp: CMS)

ลุงดาบตั้งปณิธานในการถ่ายทอดศาสตร์พระราชา ด้วยมีสมเด็จย่าเป็นศูนย์รวมจิตใจสูงสุดของครอบครัว ความตั้งใจนี้ได้ส่งต่อสู่ลูกทั้ง 2 คน คือ นรากร พิมล (ปลัดเบิร์ด) ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง จ.กระบี่ วิทยากรศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง และพรพรรณ พิมล (บี) ผู้ประสานงานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง ผู้เป็นกำลังหลักในการสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป

ข้อมูลทั่วไปของศูนย์

ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 บ้านหนองแร้ง ตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติความเป็นมาของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง

เดิมเป็นที่ดินของคุณเกษม เจริญพานิชย์ ที่มีความเลื่อมใสในแนวเกษตรชีวภาพ และเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงอุทิศที่ดินให้จัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง เพื่อเปิดโอกาสให้มีสถานที่ฝึกอบรม เผยแพร่ความรู้หลักการทำกสิกรรมธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ไปยังเกษตรกรและผู้สนใจโดยทั่วไปเพื่อให้เกิดความแพร่หลาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา

ดาบตำรวจ นิรันดร์ พิมล ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง กล่าวว่า ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ในการดำเนินงาน โดยปัจจุบันสามารถจัดฝึกอบรมเกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายได้กว่า 4,000 คน นอกเหนือจากการฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกร และผู้สนใจที่เดินทางมาที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสงแล้ว ยังได้มีโอกาสร่วมอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพผู้สนใจในพื้นที่ต่างๆ ตามที่ได้รับการร้องขอ อันเป็นแนวการปฏิบัติงานในเชิงรุก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเล็งเห็นถึงการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรด้วยหลักกสิกรรมธรรมชาติ และพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งหวังให้แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตรที่จัดอบรม

เผยแพร่ความรู้หลักการทำกสิกรรมธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ไปยังเกษตรกรและผู้สนใจโดยทั่วไปเพื่อให้เกิดความแพร่หลาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวภาคใต้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *